What can we help you with?

9 เรื่องจริง! เกี่ยวกับใบขับขี่ ที่ควรรู้

9 เรื่องจริง! เกี่ยวกับใบขับขี่ ที่ควรรู้

ใบขับขี่ที่มี รู้กันหรือไม่ว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด ไม่เชื่อ! ลองมาอัปเดตความรู้เรื่องใบขับขี่ที่ DirectAsia รวมมาให้ถึง 9 เรื่องด้วยกัน หรือหากใครมีเรื่องน่ารู้ที่นอกเหนือจากนี้ ก็แนะนำเพิ่มเติมกันเข้ามาได้ ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านกัน

1. ใบขับขี่หาย ไม่ต้องแจ้งความ

สำหรับผู้ที่ทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลหาย ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความ สามารถติดต่อที่สำนักงานกรมการขนส่งทางบกในพื้นที่อาศัย เพื่อขอทำใบขับขี่ใหม่ได้เลย ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ยังสามารถใช้ใบขับขี่ดิจิทัลแบบชั่วคราวผ่านแอปพลิเคชัน DLT QR LICENCE เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ระหว่างรอใบขับขี่ใบใหม่ได้อีกด้วย

2. สอบใบขับขี่ สอบใบขับขี่รถยนต์ ต้องมีบัตรประชาชนตัวจริง

การขอรับใบอนุญาตขับขี่ มีเอกสารที่จะต้องมี และขาดไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ บัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ใครที่ทำบัตรประชาชนหาย หรือชำรุด จะต้องดำเนินการทำใหม่ที่สำนักงานเขตให้เรียบร้อยก่อนเท่านั้น ไม่สามารถนำใบแจ้งความ หรือสำเนาบัตรประชาชนมาใช้ทดแทนกันได้

3. ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ไปสอบปฏิบัติ

ขั้นตอนการสอบใบขับขี่รถยนต์ เมื่อผ่านการอบรม และทำข้อสอบเรียบร้อยแล้ว ผู้ขับขี่ยังต้องสอบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ประเมินด้วย โดยผู้ขับขี่ส่วนมากจะเตรียมรถยนต์มาจากบ้านเอง และส่วนน้อยที่ไม่ทราบ ว่าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดมีบริการให้เช่ารถยนต์ด้วยเช่นกัน ใครที่ไม่สะดวกนำรถยนต์มาเองก็สามารถเช่าได้เลย โดยมีอัตราค่าบริการประมาณ 100 บาท/ครั้ง ทั้งนี้ แต่ละเขตพื้นที่อาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป บางเขตอาจยังไม่มีบริการดังกล่าว และกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องเตรียมรถยนต์มาเองเท่านั้น DirectAsia แนะนำว่าให้ตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจังหวัดในพื้นที่เสียก่อน จะได้ไม่พลาดโอกาสในการสอบ และเตรียมพร้อมได้ทันการ

4. ใบขับขี่ไม่สามารถทำได้ในวันเดียว

การสอบใบขับขี่ในปัจจุบัน มีข้อกำหนดที่เพิ่มมากขึ้น จากในอดีตที่สามารถอบรม รวมถึงสอบ และรับใบขับขี่ได้เลยใน 1 วัน ปัจจุบันผู้ขับขี่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน โดยมีขั้นตอนดังนี้ 

  • วันที่ 1 
    • ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
    • อบรมใบอนุญาตจำนวน 5 ชม. แบ่งเป็นภาคเช้า และบ่าย
    • ทดสอบข้อเขียน

หากการทดสอบข้อใดข้อหนึ่งตามข้างต้นไม่ผ่านเกณฑ์ ผู้ขับขี่จะต้องมาทดสอบใหม่ในวันรุ่งขึ้น

  • วันที่ 2
    • ทดสอบขับรถยนต์
    • รับใบอนุญาต

5. ต่อใบขับขี่2565 ควร จองคิวต่อใบขับขี่ ทางออนไลน์

กรมการขนส่งทางบกแนะนำบริการต่อใบอนุญาตขับขี่ โดยให้ผู้ขับขี่จองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue เพื่อความสะดวกสบายในการรับบริการ นอกจากนี้ ยังมีช่องทางอื่น ๆ เช่น จองผ่านเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th/ หรือตู้กดบัตรคิวอัตโนมัติ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดแต่ละพื้นที่ ผู้ขับขี่สามารถเลือกได้ตามสะดวก

6. ไม่ต้องพกใบขับขี่ตัวจริงได้แล้ว

จบปัญหาการลืมใบขับขี่ แค่โหลดแอปพลิเคชัน DLT QR Licence เพื่อใช้งานใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่จำเป็นต้องพกใบขับขี่ตัวจริงแล้ว ทั้งนี้ ยังสามารถใช้สำเนาใบขับขี่ หรือภาพถ่ายที่มีแทนได้เช่นกัน โดยจะต้องเห็นข้อมูลบนบัตรที่ชัดเจนเท่านั้น

9 เรื่องจริง! เกี่ยวกับใบขับขี่ ที่ควรรู้

7. บุคคลที่ไม่มีสิทธิ์สอบใบอนุญาตขับขี่

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสอบใบขับขี่ หรือได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ ตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก สามารถแบ่งบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์สอบใบอนุญาตขับขี่ ได้ดังนี้

  • ผู้ที่อยู่ระหว่างการยึดใบขับขี่
  • ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบขับขี่ ในกรณีนี้ถ้าถูกเพิกถอนใบขับขี่ จะสามารถสอบใบขับขี่ได้ก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาไปแล้ว 3 ปีนับตั้งแต่วันแรกที่ถูกเพิกถอนไป
  • ผู้พิการทางร่างกาย ตั้งแต่ แขน ขา ตาบอด หูหนวก และลำตัวพิการที่เป็นเหตุไม่สามารถทำให้ขับรถยนต์ได้
  • ผู้ที่มีความผิดปกติทางประสาทและป่วยทางจิต
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงอันเป็นที่น่ารังเกียจต่อสังคม
  • ผู้ที่ติดสุรา ของมึนเมา และผู้ที่ติดยาเสพติดทุกประเภท
  • ผู้ที่เคยได้รับการจำคุกที่มีความผิดเกี่ยวกับคดีรถค่ะ แต่ในที่นี้ยกเว้นผู้ที่ได้รับโทษฐานทำความผิดโดยประมาทและต้องได้รับการพ้นโทษมาแล้วเกิน 3 ปี
  • ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพราะมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
  • ผู้ที่มีข้อกล่าวหาหรือถูกพิพากษาถึงที่สุดและถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ตามความผิดดังต่อไปนี้ (และเมื่อพ้นโทษเหล่านี้ไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงสามารถมาทำเรื่องขอใบอนุญาตขับขี่ได้ค่ะ)
  • ขับขี่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร
  • ขับขี่ขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น
  • ขับขี่ในลักษณะกีดขวางการจราจร
  • ขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
  • ขับขี่โดยประมาณหรือน่าหวาดเสียว
  • ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

รวมถึงผู้ที่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงได้ทั้งหมด 5 โรคดังต่อไปนี้

  • โรคเท้าช้าง
  • โรควัณโรค
  • โรคเรื้อน
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง
  • โรคยาเสพติดให้โทษ

8. ใบขับขี่แบบใหม่ใช้แทน ใบขับขี่สากล ได้

การท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องการเช่ารถเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง จำเป็นต้องมีใบขับขี่ระหว่างประเทศ ควบคู่กับใบขับขี่ภายในประเทศด้วย ยกเว้นประเทศกลุ่ม AEC ผู้ขับขี่สามารถขับรถออกนอกประเทศอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เพียงใช้ใบขับขี่แบบใหม่ชนิดสมาร์ตการ์ดใบเดียวเท่านั้น

9. ใบขับขี่หมดอายุ ไม่เกิน 1 ปี รับบัตรใหม่ได้เลย

การต่อใบขับขี่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ใบขับขี่หมดอายุ สามารถดำเนินการขอรับใบใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องอบรม หรือสอบใหม่ ส่วนผู้ที่ใบขับขี่หมดอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี จะต้องผ่านการสอบข้อเขียนให้คะแนนผ่านร้อยละ 90 จากคะแนนสอบทั้งหมด และใบขับขี่ที่หมดอายุเกิน 3 ปี จะต้องผ่านการสอบข้อเขียน สอบปฏิบัติ และต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการขอต่ออายุใบขับขี่อีกด้วย

สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์  โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็คเบี้ยประกันรถยนต์ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th