ลดหย่อนภาษี 2566 ประกันรถยนต์ ลดหย่อนภาษีได้ไหม?

- ค่าลดหย่อนภาษี 2566 คืออะไร
- ค่าลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง
- ประกันรถยนต์ ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่
- ประกันรถยนต์ ลดหย่อนภาษีได้ มีอะไรบ้าง
โดยทั่วไปจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประกันชีวิตสามารถใช้ขอคืนภาษีหรือลดหย่อนภาษีได้ แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าประกันรถยนต์ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งข้อดีของการทำประกันภัยรถยนต์ นอกจากจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าคุณจะได้รับการชดเชยในกรณีเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยให้คุณประหยัดเงินเมื่อต้องเคลมค่าซ่อมต่าง ๆ ที่จะตามมาส่งผลในระยะยาวได้ และค่าใช้จ่ายในการชำระเบี้ยประกันภัยยังสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย แต่ก็ใช่ว่าประกันรถยนต์จะได้สิทธิ์ขอคืนภาษีหรือลดหย่อนภาษีทั้งหมด และไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ขับขี่จะทำประกันประเภทใดอีกด้วย
DirectAsia จะพามาทำความเข้าใจกันว่าประกันรถยนต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จริงหรือไม่ หากทำได้ แล้วประกันภัยรถยนต์แบบไหนที่เข้าเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด
ค่าลดหย่อนภาษี 2566 คืออะไร
ค่าลดหย่อนภาษี คือ ค่าใช้จ่ายตามรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าวแล้วจะทำให้คุณเสียภาษีประจำปีในอัตราที่น้อยลงหรืออาจจะได้ คืนภาษี ในกรณีที่เสียภาษีระหว่างปีไว้เกินกว่าฐานรายได้คํานวณภาษีที่แจ้งไป โดยอัตราการเสียภาษีนั้นจะคิดตามสัดส่วนของรายรับ หากคุณมีรายได้ถึงกำหนดที่จะต้องเสียภาษีก็ต้องจ่าย ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีวิธีการคำนวณดังนี้
รายได้ (ต่อปี) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ค่าลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง
รายการลดหย่อนภาษี 2566 |
อัตราค่าลดหย่อน |
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000 บาท |
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส | คนละ 60,000 และกฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน |
3. ค่าลดหย่อนบุตร | คนละ 30,000-60,000 บาท |
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา | คนละ 30,000 บาท |
5. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ | คนละ 60,000 บาท |
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ 60,000 บาท |
7. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท) |
8. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท |
9. เบี้ยประกันสุภาพตนเอง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท |
10. กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 500,000 บาท |
11. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับข้อ 10 แล้วไม่เกิน 500,000 บาท |
12. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10 และ RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
13. เงินประกันสังคม | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 9,000 บาท |
14. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10 RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
15. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 10 RMF เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และกอช. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
16. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
17. ค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต | ลดหย่อนเพิ่มได้อีกตามที่จ่ายจริง เมื่อมีเงินได้จากค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือ เงินได้การประกอบธุรกิจอื่น ๆ |
18. เงินบริจาคพรรคการเมือง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท |
19. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท |
20. ช้อปดีมีคืน 2566 | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท (รอประกาศเป็นกฎหมาย) |
21. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ | 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน |
22. เงินบริจาคทั่วไป | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน |
ประกันรถยนต์ ลดหย่อนภาษีได้หรือไม่
ประกันรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่สามารถลดหย่อนภาษีหรือยื่นขอคืนภาษีได้ สังเกตได้จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า ประกันภัยรถยนต์ ไม่ได้อยู่ในรายการลดหย่อนภาษี 2566 มีเพียงประกันสุขภาพเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาลอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนในค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เศรษฐกิจ และปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ส่วนประกันรถยนต์ที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นนับว่าไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน เว้นแต่ผู้ขับขี่ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่ง หรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับรถยนต์
ประกันรถยนต์ ลดหย่อนภาษีได้ มีอะไรบ้าง
ประเภทประกันรถยนต์ที่สามารถรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้ประกอบธุรกิจขนส่ง หรือจดทะเบียนในนามบริษัท เช่น รถเช่า รถรับจ้าง หรือ บริษัทขนส่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำประกันรถยนต์ชั้นใดก็ตาม สามารถนำค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ไปลดย่อนภาษีเงินได้ภาคธุรกิจได้ เนื่องจากการทำประกันรถยนต์นั้นเท่ากับว่าเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจนั่นเอง
ทั้งนี้รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพที่ใช้รถยนต์ หรืองานเสริม เช่น แท็กซี่ รถรับจ้าง หรือบริการส่งของ แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่า อาชีพเหล่านั้นกฎหมายรองรับหรือไม่ ก่อนนำหลักฐานรายได้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภาษีไปยื่นขอลดหย่อนภาษีหรือขอคืนภาษีในส่วนนั้น
สรุปว่า ค่าเบี้ยประกันรถยนต์สามารถนำมาตีเป็นค่าใช้จ่าย ลดหย่อนภาษี ได้ กรณีผู้ขับที่เข้าเกณฑ์ที่ DirectAsia กล่าวข้างต้น สามารถยื่นแบบขอลดหย่อนภาษีได้เลย แต่อย่าลืมว่าต้องมีหลักฐานแสดงหรือต้องพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์คันนั้นใช้ในการประกอบงานจริง อย่างไรก็ดี เพื่อให้ถูกระเบียบตามกรมสรรพากร ผู้ขับขี่ควรศึกษาข้อมูล หรือรับคำปรึกษากับกรมสรรพากรโดยตรงที่เบอร์ 1161
สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์ โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็คเบี้ยประกันรถยนต์ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+ , ประกันรถยนต์ 3+ , ประกันชั้น 2 , และ ประกันชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th/
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด