What can we help you with?

ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร แบบแปลกๆ มีความหมายอย่างไร

ป้ายจราจรเหล่านี้ หมายความว่าอย่างไร

ป้ายจราจรที่คุ้นเคยอย่างป้ายห้ามจอด หรือป้ายจุดกลับรถ แน่นอนว่าเห็นกันทุกวันบนท้องถนน แต่บล็อกนี้พี่กู๊ดจะพาทุกคนไปดูเครื่องหมายจราจรที่คุณอาจไม่คุ้นเคย หรือไม่ค่อยได้พบเจอบนท้องถนนบ่อยนัก เพื่อเป็นความรู้และปฏิบัติตามกฎจราจรได้อย่างถูกต้อง มาอ่านกันได้เลยครับ

ป้ายจราจร สำคัญอย่างไร

เครื่องหมายบนแผ่นป้าย ไม่ว่าจะลูกศรหรือสัญลักษณ์ ต่างมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น ลองคิดดูว่าบนโลกเรามีประชากรกี่คน และมียานพาหนะทั้งหมดกี่ประเภท ถึงไม่คำนวณก็รู้เลยครับว่าเยอะมาก ดังนั้นหากไม่มีกฎกติกาบังคับ อาจสร้างความเสียหายและวุ่นวายหน้าดูเลยใช่ไหมครับ

ป้ายจราจรหรือเครื่องหมายจราจรดังกล่าว จึงมีบทบาทเสมือนผู้รักษาระเบียบบนถนนทุกสาย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการการจราจรในพื้นที่นั้น ๆ ให้มีความคล่องตัว และปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ทุกประเภทครับ

 

ป้ายจราจร มีกี่ประเภท?

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ป้ายจราจรแบบบังคับ

    : มีไว้เพื่อควบคุม ให้ผู้ขับขี่ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยวซ้าย, ห้ามแซง, ห้ามจอดรถ เป็นต้น

  2. ป้ายจราจรแบบเตือน

    : มีไว้เพื่อแจ้งเตือน ให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังและทราบล่วงหน้าว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า เช่น ทางข้ามทางรถไฟ, ทางโค้งขวา, วงเวียนข้างหน้า เป็นต้น

  3. ป้ายจราจรแบบแนะนำ

    : มีไว้เพื่อแนะนำข้อมูลการเดินทางต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งทางข้าม, จุดกลับรถ, บอกระยะทางเป็นต้น

ป้ายจราจร หากฝ่าฝืน ถูกปรับแน่นอน!

สำหรับการฝ่าฝืนกฎจราจร ถือว่ายังมีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมบนท้องถนน พี่กู๊ดเตือนเลยครับว่านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ร่วมทางแล้ว อาจโชคไม่ดีเกิดอุบัติเหตุได้ และคุณยังต้องจ่ายค่าปรับด้วยครับ ซึ่งแต่ละข้อกำหนดจะมีอัตราที่แตกต่างกันไป พี่กู๊ดรวมมาให้บางส่วนแล้ว ดังนี้ครับ

ข้อกําหนด อัตราค่าปรับ
ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง หรือเครื่องหมายจราจรสีแดงที่มีคําว่า “หยุด” 400 บาท
เลี้ยวรถโดยไม่เข้าช่องเดินรถที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงให้เลี้ยว 500 บาท
ขับรถแซงหรือผ่านขึ้นหน้ารถอื่น ล้ำเส้นกึ่งกลางของทาง 500 บาท
เลี้ยวซ้ายแต่ไม่ขับรถชิดทางซ้ายสุดหรือในช่องให้เลี้ยว ก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร 400 บาท
เลี้ยวขวาแต่ไม่ขับรถชิดทางขวาสุดหรือในช่องให้เลี้ยว ก่อนถึงทางเลี้ยวไม่น้อยกว่าสามสิบเมตร 400 บาท
เลี้ยวรถหรือกลับรถในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายห้ามเลี้ยวขวา ห้ามเลี้ยวซ้ายหรือห้ามกลับรถ 500 บาท
หยุดรถในเขตที่มีเครื่องหมายห้ามหยุดรถ 300 บาท
จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ 400 บาท
จอดรถในระยะสิบห้าเมตรก่อนถึงเครื่องหมายหยุด 200 บาท
ไม่ลดความเร็วและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อมีสัญญาณระวังรถไฟ 200 บาท
ไม่ขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กําหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้ง 500 บาท
ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ที่วงเวียน 500 บาท
ข้อกําหนดของสํานักงานตํารวจแห่งชาติสําหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2559

ป้ายจราจร แปลกๆ แต่มีจริง!

ลองดูไปพร้อมกันทีละภาพแล้วทายชื่อป้ายและข้อปฏิบัติไว้ในใจ ก่อนดูเฉลยว่าคือป้ายอะไร ซึ่งพี่กู๊ดเชื่อว่า ต้องมีคนที่อาจเคยเห็นมาบ้าง และไม่เคยพบเจอมาก่อนเลย ด้วย 10 ป้ายจราจรแปลกในประเทศไทย ยุคไหนก็ยังใช้อยู่

ป้ายห้ามรถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร

หมายถึง ห้ามรถยนต์ที่ใช้ในการเกษตรเข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้ เช่น รถแทรกเตอร์(รถไถ), รถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร (รถอีแต๋น) หรือ รถปลูกผัก เป็นต้น

ป้ายจราจร ห้ามรถจักรยาน-สามล้อ-และรถจักรยานยนต์

ป้ายห้ามรถจักรยาน สามล้อ และรถจักรยานยนต์

หมายถึง ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และรถจักรยานสามล้อ เข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้

ป้ายจราจร ห้ามล้อเลื่อนลากเข็น

ป้ายห้ามล้อเลื่อนลากเข็น

หมายถึง ห้ามขับขี่รถล้อเลื่อนลากเข็นเข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้

ป้ายจราจร ห้ามรถแทรกเตอร์

ป้ายห้ามรถแทรกเตอร์

หมายถึง ห้ามรถแทรกเตอร์ผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้

ป้ายห้ามเกวียน

หมายถึง ห้ามเกวียนขับขี่เข้าไปในพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายนี้

ป้ายจราจร สลับกันไป

ป้ายสลับกันไป

หมายถึง ทางข้างหน้ามีจำนวนช่องเดินรถลดลง ให้ผู้ขับขี่สลับกันไปด้านละคัน

ป้ายจราจร ผิวทางร่วน

ป้ายผิวทางร่วน

หมายถึง ทางข้างหน้ามีวัสดุผิวทางหลุดกระเด็นเมื่อรถผ่านด้วยความเร็วสูง ให้ระมัดระวังอันตรายจากวัสดุผิวทาง

ป้ายจราจร เครื่องจักรกำลังทำงาน

ป้ายเครื่องจักรกำลังทำงาน

หมายถึง ให้ระวังเครื่องจักรที่กำลังทำงาน โดยติดตั้งไว้ในบริเวณที่มีเครื่องจักรทำงานอยู่

ป้ายช่องเดินรถมวลชน

หมายถึง ช่องเดินรถที่กำหนดไว้สำหรับช่องเดินรถมวลชน ที่มีคนโดยสารบนรถไม่น้อยกว่าตัวเลขที่กำหนดในป้าย

ป้ายจราจร สุดเขตบังคับ

ป้ายสุดเขตบังคับ

หมายถึง หมดเขตบังคับตามความหมายของป้ายที่ติดตั้งก่อนหน้าที่จะถึงป้ายนี้

 

ใครรู้จักหมดทุกป้ายบ้างครับ พี่กู๊ดขอปรบมือรัว ๆ ให้เลย ส่วนใครที่อาจลืมไปแล้วบ้าง ลองหาข้อมูลศึกษาหรืออ่านเพิ่มเติม จะเป็นประโยชน์ในการเดินทางอย่างมากเลย เพราะทุกการขับขี่จะปลอดภัย ถนนทุกสายจะน่าใช้ หากทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดครับ


เปรียบเทียบประกันรถยนต์ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการประกันรถยนต์ ทั้ง ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิกเว็บไซต์ https://www.directasia.co.th หรือสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ โทร 02-767-7777

*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด

DirectAsia เช็คเบี้ยประกันรถยนต์ชั้น 1