What can we help you with?

โลกหลากมิติ (จริงๆ) สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความงามคือหายนะที่ยิ่งใหญ่

โลกหลากมิติ (จริงๆ) สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความงามคือหายนะที่ยิ่งใหญ่

วันนี้พักเรื่องรถยนต์มาเรื่องอื่นๆกันบ้างดีกว่า คุณๆสนใจเรื่องอะไรกันบ้าง สำหรับผมแล้ว ชอบดูรายการเกี่ยวกับสารคดีมาก ดูได้หลากหลายแนว มีสารคดีที่ชื่นชอบหลายรายการหนึ่งในนั้นคือ รายการโลกหลากมิติที่ดูเป็นประจำทางช่องไทยพีบีเอส

ความประทับใจที่มีต่อรายการโลกหลากมิติ

ตอนที่ชอบมีหลายตอนหลายเรื่อง แต่ตอนที่ชอบและทำให้อยากจะเขียนถึงในครั้งนี้ก็คือ อัศจรรย์การเดินทาง

แม้ตอนนั้นผมจะเพิ่งดูตอนที่ 2 ได้เพียงตอนเดียวก็ทำให้รู้สึกอยากที่จะคุยถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ก่อนที่จะเขียนก็ไปหาดูตอนที่ 1 ย้อนหลังด้วย เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาและความั้งใจของผู้ที่จัดทำสารคดีตอนนี้ทั้งหมด

สาระสำคัญของสารคดีในตอนนี้ก็คือ การถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทั่วทุกมุมโลกให้ผู้คนได้รับรู้ว่าขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับอะไรบ้าง มีอะไรที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง มีพื้นที่ไหนบ้างที่อยู่ในสภาวะถดถอยอย่างมีนัยยะสำคัญผ่านมุมมองทางอากาศ ซึ่งผู้ที่ทำสารคดีตอนนี้เป็นช่างภาพที่คลุกคลีอยู่กับการถ่ายภาพและการบินมากกว่า 30 ปี

สิ่งที่น่าสนใจซึ่งผมเองจัดว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งในสารคดีตอนนี้มีอยู่ 2 อย่างคือ การได้เห็นโลกกว้างในมุมต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีแบบนี้ด้วย และการได้รับรู้ถึงสิ่งที่เห็นและกำลังจะเป็นไปว่าอยู่ในสภานะที่ใกล้หายนะเข้าไปทุกที หากเกิดหายนะขึ้นอย่างที่ผู้จัดทำต้องการจะสื่อให้เห็น มันคือหายนะที่มนุษย์ยากจะแก้ไขได้จริงๆ

ภาพถ่ายทางอากาศที่ใช้ในการเล่าเรื่องในแต่ละพื้นที่สวยงามมากๆ เหมือนงานศิลปะชิ้นเอกเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นไร่ชาในประเทศเคนย่าที่เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ทุ่งทิวลิปในประเทศเนเธอร์แลนด์ พื้นที่ปลูกมะกอกในประเทศสเปน ทุ่งกอซ่าในฝรั่งเศษ และอีกหลายๆ ที่ แต่ก็อย่างที่ผู้จัดทำสารคดีบอกไว้ ในความสวยงามนั้นเขามักจะต้องเจอความขัดแย้งอยู่เสมอ เพราะในสิ่งที่สวยงามนั้นมีความหายนะซ่อนอยู่

ใครจะรู้บ้างว่า ทุ่งทิวลิปในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่บานเพียง 15 วัน/ปี ภาพสีสันของดอกทิวลิปที่ทาบทาไปบนพื้นที่เราเคยเห็นกันทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสิ่งพิมพ์ว่าสวยงามอลังการนั้น เป็นความสวยงามที่มาพร้อมกับยาฆ่าแมลงในปริมาณมากมายมหาศาลขนาดไหน ซึ่งผู้จัดทำสารคดีบรรยายว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ใช้ยาฆ่าแมลงต่อเฮกเตอร์มากกว่าที่ใดๆ ในโลก

อีกภาพที่ผมเห็นและเมื่อได้รู้ความเป็นไปแล้วต้องอึ้งก็คือ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ เพิ่งรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงคนหลายสิบหลายร้อยล้านคนนั้นต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ต้องใช้น้ำมัน 2 ลิตรเพื่อผลิตเนื้อ 2 กิโลกรัม และร้อยละ 60 ของธัญพืชต้องใช้เป็นอาหารสัตว์เหล่านี้ อีกทั้งอุตสาหกรรมฟาร์มยังผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการขนส่งทุกระบบรวมกันซะอีก

ในส่วนที่บรรยายถึงอุตสาหกรรมฟาร์ม ผู้จัดทำสารคดีได้บอกทิ้งท้ายว่า ด้วยเหตุนี้นักอนุรักษ์จึงพยายามรณรงค์ให้คนลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันไปกินผักแทน

นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดภาพการใช้ชีวิตของผู้คนที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ภาพการขาดแคลนน้ำในอินเดีย ด้วยจำนวนประชากรที่มากนับพันล้านคนทำให้น้ำใต้ดินของอินเดียเหือดแห้ง ภาพหนึ่งที่ชินตาก็คือ ภาพหญิงสาวต้องเดินทางเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงเพื่อไปตักน้ำมากินมาใช้

ประเทศไทยที่จังหวัดพังงาก็ถูกกล่าวถึงในสารคดีนี้ด้วยเช่นกัน โดยเป็นการบินมาถ่ายภาพและสำรวจป่าชายเลน ตลอดเวลาของการดูสารคดี 2 ตอนนี้ ผมถูกสะกดไปด้วยภาพถ่ายทางอากาศที่สวยงามตลอดทั้งเรื่อง ขณะเดียวกันก็ได้ยินและรับฟังความหายนะที่น่าสพรึงของการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่งของมนุษย์ สัมผัสได้ถึงความน่ากลัวหากวันที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายจนถึงที่สุด ถึงตอนนั้นคนบนโลกคงฆ่าฟันกันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นแล้ว เพียงแต่เรายังไม่สำนึกรู้กันเท่านั้น

ด้วยความยาวถึง 2 ตอนๆ ละกว่า 49 นาที และมีการกล่าวถึงสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกจริงๆ ผมเองคงไม่สามารถสรุปและเขียนถึงได้ทั้งหมด ถ้าใครสนใจก็สามารถหาดูย้อนหลังได้ทางอินเทอร์เน็ตชื่อตอนว่า ‘อัศจรรย์การเดินทาง’

เป็นเรื่องที่น่าดูมาก และผู้ที่จัดทำก็มีความตั้งใจมาก เพราะการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากประเทศต่างๆ แน่นอน เขาต้องถ่ายทำมาด้วยความยากลำบากให้เราดูฟรีๆ ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรพลาด

ใครมีสารคดีโปรดอยากแชร์หรือแนะนำก็มาพูดคุยกันได้นะครับ คอมเมนต์ไว้ท้ายบทความก็ได้ จะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน