พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ต่างกันอย่างไร ทำไมต้องต่อพร้อมกัน

ถ้าหากพูดถึงการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่เจ้าของรถทุกคนต้องมีและใส่ใจ คือ การทำประกันภัยภาคบังคับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) และการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี
บทความนี้ DirectAsia จะมาไขข้อข้องใจ พร้อมกับอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์ให้คุณได้เข้าใจมากขึ้น
พ.ร.บ. คืออะไร
พ.ร.บ. หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คือ กฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำประกันภัย เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่ง พ.ร.บ. จะครอบคลุมความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยจากรถ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ โดยเจ้าของรถทุกประเภทมีหน้าที่ที่ต้องทำ พ.ร.บ. หากเจ้าของรถยนต์หลีกเลี่ยงไม่ทำ พ.ร.บ. จะมีโทษทางกฎหมาย
พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง
ตามกฎหมายแล้ว พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมใน 2 ส่วนหลักอคือ
ค่าเสียหายเบื้องต้น จ่ายทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด
- กรณีบาดเจ็บ: จ่ายตามจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
- กรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร: รับค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาทต่อคน
- กรณีเสียชีวิตหลังจากรักษาพยาบาล: รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท และค่าปลงศพอีกจำนวน 35,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท
ค่าสินไหมทดแทน จ่ายให้กับฝ่ายเสียหาย หลังจากพิสูจน์ความผิดแล้ว
- ค่ารักษาพยาบาล: ตามจริงไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
- ค่าเสียหายกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร: ไม่เกิน 200,000 - 500,000 บาท
- ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต: 500,000 บาท
- ค่าชดเชยรายวัน: กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท รวมไม่เกิน 20 วัน
ภาษีรถยนต์คืออะไร
ภาษีรถยนต์ หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่เจ้าของรถยนต์ต้องชำระให้กับรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถใช้รถบนถนนสาธารณะได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
ซึ่งอัตราภาษีจะคำนวณตามประเภทรถ ขนาดเครื่องยนต์ และอายุการใช้งาน รถยนต์ส่วนบุคคลจะมีอัตราภาษีตั้งแต่ 100-7,200 บาทต่อปี และต้องชำระภายในวันสิ้นอายุทะเบียนรถยนต์ ซึ่งมักเป็นวันเดียวกับวันจดทะเบียนรถครั้งแรก หากไม่ชำระตามกำหนด จะมีค่าปรับ 1% ต่อเดือนของค่าภาษีที่ต้องชำระ
การชำระภาษีรถยนต์เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าของรถทุกคน นอกจาก จะช่วยให้เราใช้รถอย่างถูกต้องแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศอีกด้วย
การเก็บภาษีรถยนต์ มีวิธีการเก็บอย่างไร
การจัดเก็บภาษีรถยนต์ แบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้
1. จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ(ซีซี)
ใช้กับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน โดยอัตราภาษีเพิ่มขึ้นตามขนาดเครื่องยนต์
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
- 600 ซีซีแรก ซีซีละ 0.50 บาท
- 601 – 1,800 ซีซี ซีซีละ 1.50 บาท
- หากเกิน 1,800 ซีซี ซีซีละ 4.00 บาท
- รถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ ต้องจ่ายภาษี 2 เท่า
- รถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อๆ ไป
- ปีที่ 6 ร้อยละ 10
- ปีที่ 7 ร้อยละ 20
- ปีที่ 8 ร้อยละ 30
- ปีที่ 9 ร้อยละ 40
- ปีที่ 10 ขึ้นไป ร้อยละ 50
2. จัดเก็บเป็นรายคัน
ใช้กับรถยนต์บางประเภท เช่น รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร มีอัตราภาษีต่อคันคงที่ต่อปี
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
- รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
- รถพ่วงข้างจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
- รถพ่วงชนิดอื่น คันละ 100 บาท
- รถบดถนน คันละ 200 บาท
- รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
3. จัดเก็บตามน้ำหนัก
ใช้กับรถบรรทุก รถพ่วง โดยอัตราภาษีเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักรถ
- น้ำหนักรถ 0-500 อัตราภาษี 300 บาท
- น้ำหนักรถ 501- 750 กก. อัตราภาษี 450 บาท
- น้ำหนักรถ 751 – 1,000 กก. อัตราภาษี 600 บาท
- น้ำหนักรถ 1,001 – 1,250 กก. อัตราภาษี 750 บาท
- น้ำหนักรถ 1,251 – 1,500 กก. อัตราภาษี 900 บาท
- น้ำหนักรถ 1,501 – 1,750 กก. อัตราภาษี 1,050 บาท
- น้ำหนักรถ 1,751 – 2,000 กก. อัตราภาษี 1,350 บาท
- น้ำหนักรถ 2,001 – 2,500 กก. อัตราภาษี 1,650 บาท
- น้ำหนักรถ 2,501 – 3,000 กก. อัตราภาษี 1,950 บาท
4. รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
จะมีอัตราพิเศษเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไปที่มีขนาดเทียบเท่า
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จะเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตราเดียวกันกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
- รถพลังงานไฟฟ้าอื่นๆ เก็บภาษีครึ่งหนึ่งของการเก็บรายคันและตามน้ำหนัก
หมายเหตุ: รถยนต์อายุเกิน 5 ปี จะได้รับส่วนลดภาษี และอัตราภาษีอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐบาล
ข้อแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์
การต่อ พ.ร.บ. และการชำระภาษีรถยนต์เป็นสองสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งทั้งพ.ร.บ. และ ภาษีรถยนต์ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย พ.ร.บ. เป็นการซื้อประกันภัยภาคบังคับ ส่วนการชำระภาษีรถยนต์เป็นการจ่ายภาษีให้กับรัฐ
ในแง่ของความคุ้มครอง พ.ร.บ. จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งเจ้าของรถ และคู่กรณี ส่วนภาษีรถยนต์เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้กับรัฐ และจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ
ซึ่งการต่อ พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์เป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน การต่อภาษีรถยนต์จำเป็นต้องแสดงเอกสารการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ถึงจะสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ เมื่อชำระภาษีรถยนต์เรียบร้อย จะได้รับ "ป้ายภาษี" ซึ่งเป็นแผ่นป้ายสี่เหลี่ยมสำหรับติดที่กระจกหน้ารถยนต์
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ป้ายภาษีเป็นป้าย พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งที่ถูกต้อง คือ พ.ร.บ. รถยนต์จะเป็นเอกสารขนาด A4 ที่แสดงรายละเอียดรถยนต์และข้อมูลกรมธรรม์
หากเราไม่ต่อ พ.ร.บ. จะเสียภาษีรถยนต์ได้หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่สามารถเสียภาษีรถยนต์ได้ เนื่องจากข้อกำหนดทางกฎหมาย กำหนดให้ พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน การต่อภาษีรถยนต์จำเป็นต้องแสดงหลักฐานการทำ พ.ร.บ. รถยนต์ หากไม่มีเอกสารการทำ พ.ร.บ. หรือ พ.ร.บ. หมดอายุ จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้
ถ้าไม่ต่อ พ.ร.บ. และภาษีรถยนต์ ผิดกฎหมายไหม
การต่อ พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์เป็นข้อกำหนดที่กฎหมายบังคับใช้ในประเทศไทย การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย
1. ขาดต่อ พ.ร.บ. และภาษีรถยนต์ 1-3 ปี
หากขาดต่อ พ.ร.บ. จะไม่สามารถชำระภาษีรถยนต์ได้ ซึ่งคุณจะไม่ได้รับความคุ้มครองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ กรณีที่ พ.ร.บ. รถขาด 2-3 ปี เจ้าของรถยนต์จะต้องทำการตรวจสภาพรถและเสียค่าปรับย้อนหลังร้อยละ 1 ต่อเดือน จึงจะสามารถดำเนินการชำระภาษีและต่อทะเบียนรถได้
2. ขาดต่อเกิน 3 ปี
ขาดต่อภาษี หรือ ทะเบียนรถยนต์ขาดเกิน 3 ปีจะทำให้ถูกระงับป้ายทะเบียนโดยอัตโนมัติ และจะต้องดำเนินการจดทะเบียนใหม่ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม การใช้งานรถยนต์ที่ทะเบียนขาดเป็นการละเมิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท และไม่สามารถขอสินเชื่อรถยนต์หรือเอารถเข้าไฟแนนซ์ได้
ต่อภาษีรถยนต์เมื่อไหร่ ต่อล่วงหน้าได้ไหม
สำหรับการต่อภาษีรถยนต์ในประเทศไทย กำหนดให้ต่อภาษีเป็นประจำทุกปี ขึ้นอยู่กับวันหมดอายุของป้ายภาษีที่ติดอยู่บนกระจกหน้ารถ และสามารถต่อล่วงหน้าได้มากถึง 90 วัน หรือ 3 เดือน ก่อนครบกำหนด ซึ่งจะช่วยให้คุณมีเวลาในการจัดเตรียมเอกสารและหลีกเลี่ยงความเร่งรีบในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนภาษีรถยนต์หมดอายุได้อีกด้วย
เอกสารที่ใช้ประกอบการต่อภาษีรถยนต์
1. สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียนรถยนต์)
เป็นเอกสารสำคัญที่แสดงถึงการจดทะเบียนและรายละเอียดของรถยนต์ จะเป็นฉบับจริงหรือสำเนาก็ได้
2. หนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ (ตรอ.)
สำหรับรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุเกิน 5 ปี จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ โดยหนังสือรับรองนี้จะได้รับหลังจากเข้าตรวจสภาพรถที่ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) หรือสำนักงานขนส่ง
3. พ.ร.บ. รถยนต์ (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)
เอกสารการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ซึ่งเป็นเอกสารจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินการต่อภาษี
4. บัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์
กรณีที่เจ้าของรถไม่สามารถมาดำเนินการเองได้ ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องของเจ้าของรถ และบัตรประชาชนของผู้ดำเนินการแทน
ช่องทางการต่อภาษีรถยนต์
การต่อภาษีรถยนต์สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งทางสถานที่ที่ให้บริการและทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถยนต์ โดยสามารถเลือกวิธีที่สะดวกที่สุดตามความต้องการของคุณได้เช่น
สำนักงานขนส่งจังหวัด
สามารถนำเอกสารที่เตรียมไว้ไปยื่นขอต่อภาษีได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสาขาต่าง ๆ โดยจะเปิดทำการในวันและเวลาราชการ (จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8:30 - 16:30 น.)
ที่ทำการไปรษณีย์
แต่ทั้งนี้ควรตรวจสอบสถานที่ที่มีบริการต่อภาษีกับไปรษณีย์ในพื้นที่ก่อน
จุดบริการเคลื่อนที่
หรือรถโมบายเคลื่อนที่ของกรมการขนส่งทางบกที่เปิดให้บริการในบางพื้นที่ สามารถตรวจสอบตารางเวลาการให้บริการได้จากเว็บไซต์หรือประกาศของกรมการขนส่งทางบก
ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า
ในบางห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามีจุดบริการต่อภาษีรถยนต์ เช่น ที่ศูนย์การค้าจตุจักร หรือศูนย์การค้าบิ๊กซีบางสาขา มักเปิดให้บริการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย
เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก (DLT e-Services)
สามารถลงทะเบียนและกรอกข้อมูลรถยนต์เพื่อดำเนินการต่อภาษี รวมถึงชำระค่าภาษีผ่านระบบออนไลน์และรอรับเอกสารทางไปรษณีย์
แอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax จาก App Store หรือ Google Play เพื่อลงทะเบียนและกรอกข้อมูลรถยนต์เพื่อดำเนินการต่อภาษี แล้วชำระค่าภาษีผ่านระบบออนไลน์และรอรับเอกสารทางไปรษณีย์
เว็บไซต์ไปรษณีย์ไทย (Thailand Post)
เข้าเว็บไซต์ ไปรษณีย์ไทย เลือกเมนูบริการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ กรอกข้อมูลและชำระค่าภาษีผ่านระบบออนไลน์
ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ง่ายๆ
ปัจจุบันนี้ การต่อภาษีรถยนต์เป็นขั้นตอนที่ง่ายและสะดวก แต่ควรจะเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและติดตามขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อการดำเนินการที่ราบรื่น โดยการต่อภาษีรถยนต์สามารถทำได้ง่ายๆ ได้เพียง 6 ขั้นตอน
- เตรียมเอกสาร
- เลือกช่องทางที่จะต่อภาษี
- กรอกรายละเอียดข้อมูลรถยนต์
- ชำระเงินค่าภาษีตามจำนวนที่ระบุ
- รับเอกสาร
- ตรวจสอบสถานะการต่อภาษีรถยนต์ผ่านช่องทางที่ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม การต่อ พ.ร.บ. กับภาษีรถยนต์เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการใช้รถยนต์บนท้องถนน ซึ่งเราจำเป็นต้องต่อทั้งสองสิ่งนี้พร้อมกันตามที่กฎหมายกำหน สำหรับใครที่กำลังมองหาพ.ร.บ. รถยนต์ หรือ ประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ชั้น 2+, 3+, 2, 3 ที่เคลมได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เราขอแนะนำประกันที่ครอบคลุมและคุ้มค่าจากบริษัทที่น่าเชื่อถืออย่าง DirectAsia ซึ่งมีโปรโมชันและส่วนลดพิเศษที่ช่วยให้คุณได้รับความคุ้มครองที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสม
สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.directasia.co.th/ หรือโทร. 02-767-7777
แหล่งอ้างอิง
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.). "พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535". https://oiceservice.oic.or.th/document/Law/file/00430/00430_33219a6ccd9b8d04d55ba058b50519cc.pdf
- กรมการขนส่งทางบก. "การประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)". https://www.dlt.go.th/th
- สอบถามข้อมูลค่าภาษีรถประจำปี - กรมขนส่งทางบก